1. ผด เวลาอากาศร้อนมาก จะทำให้เหงื่อออกมาก ซึ่งผดเกิดจากความผิดปกติของท่อเหงื่อ เมื่อมีเหงื่อเพิ่มขึ้น หนังขี้ไคลที่บวมอาจทำให้เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อ ทำให้เกิดผด ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็กกระจายสม่ำเสมอ หรือบางครั้งจะเป็นเม็ดใส ๆ พบมากในเด็ก โดยผดในเด็กมักขึ้นรอบ ๆ คอ หน้าผาก หน้าขา และรักแร้ ในผู้ใหญ่มักพบผดในบริเวณร่มผ้าที่มีการเสียดสี เช่น คอ หนังศีรษะ หน้าอก ลำตัว และข้อพับ
การป้องกันและรักษา คือ พยายามอยู่ในที่อากาศเย็น มีลมโกรก เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศตามความเหมาะสม ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป หากอาการไม่ดีขึ้นให้ทายาแก้ผื่นคัน แป้งน้ำ และในเวลาที่เหงื่อออกมาก ให้อาบน้ำหรือใช้ผ้าซุบน้ำเช็ด ไม่ควรทาผลิตภัณฑ์ที่เป็นครีมหรือน้ำมัน เพราะสารเหล่านี้จะไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เหงื่อระบายออกได้น้อยกว่าเดิม
2. ผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา เช่น เกลื้อน และกลาก
- เกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลาย ๆวง มีขุยละเอียด สีต่างกัน เช่น สีจางหรือสีขาว แดง น้ำตาล หรือดำ มักเกิดขึ้นบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ และคอ มักไม่มีอาการคัน พบมากในผู้เล่นกีฬาที่มีเหงื่อออกมาก อยู่ในที่ร้อนมาก ๆ สวมเสื้อผ้ารัดแน่นหรือเสื้อผ้าที่อับชื้น เนื่องจากการเกิดความอับชื้น ทำให้เกิดการติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น
- กลาก ผื่นมีลักษณะเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน เป็นขุย เริ่มต้นด้วยอาการคันแล้วตามด้วยผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมาก ส่วนใหญ่มักพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า หนังศีรษะ ดังนั้น ต้องดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายให้ดี บางครั้งกลากอาจจะติดจากการใช้ของร่วมกับคนที่เป็นโรค หรือติดจากสัตว์เลี้ยงก็ได้
3. ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
มักเกิดในบริเวณที่อับชื้นซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะสมของการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น รักแร้ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า
- โรคเท้าเหม็น ( Pitted Keratolysis) เป็นโรคที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังบริเวณชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะเหม็นมากกว่าคนทั่วไป มีหลุม รูพรุนเล็กๆบริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า
- ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Erythrasma) จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงแห้ง ๆ ออกน้ำตาล มักพบบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ซอกนิ้วเท้า
4. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูร้อนผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีโอกาสเกิดมากขึ้น เพราะมีเหงื่อเป็นตัวกระตุ้น สังเกตได้ว่าบริเวณที่เหงื่อออกเยอะ ก็จะมีผื่นเยอะเช่นกัน เช่นข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา ซอกคอ โดยลักษณะผื่นมักเป็นผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมาก ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อน หรือมีฝุ่นละอองมาก เนื่องจากจะทำให้คันมากขึ้น
5. ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน (Seborrheic dermatitis)
เป็นผื่นแดงมีสะเก็ดเป็นมัน ขอบเขตชัดเจน ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู หลังหู หนังศีรษะ มีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดจัด หรือโดนความร้อนมาก ๆ
6. ผิวไหม้แดด
พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน มักเกิดขึ้นเมื่อโดนแสงแดดเป็นเวลานาน ทำให้ผิวไหม้แดดและลอก ผิวจะดำคล้ำขึ้นและทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย ฉะนั้น จึงควรใส่เสื้อผ้าแขนยาวป้องกันแสงแดด ทาครีมกันแดด ใส่แว่นกันแดด ใส่หมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวี
โรคผิวหนังที่มากับหน้าร้อน บางโรคเราสามารถดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิดได้ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว และมีอาการรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมกับโรคมากที่สุด